เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4
เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4
3.8 เครื่องปิดฉลาก (Labeling Machine)
การปิดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดจะแปรตามรูปทรงของบรรจุภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนี้ยังแปรตามกาวที่ใช้และวัสดุของตัวแผ่นฉลาก เครื่องปิดฉลากสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ดังต่อไปนี้
(1) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด
ในกรณีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋อง จะใช้ความเป็นทรงกลมให้เป็นประโยชน์ โดยให้กระป๋องกลิ้งไปตามรางแล้วทากาวลงบนตัวกระป๋อง เมื่อกลิ้งต่อไปกาวบนกระป๋องจะติดเอาฉลากขึ้นมาด้วย เมื่อกลิ้งไปก่อนจะครบรอบของฉลากที่ติดมานั้นจะมีการทากาวบนปลายฉลากอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้บริเวณปลายอีกข้างของฉลากสามารถติดแน่นสนิท
(2) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวที่ฉลากแล้วส่งผ่านไปติด
เครื่องปิดฉลากบนส่วนหน้าหรือส่วนหลังของบรรจุภัณฑ์ จำพวกขวดแก้วหรือพลาสติก มีหลักการทำงาน คือ ฉลากจะถูกทากาวด้วยลูกกลิ้งก่อน แล้วจึงนำฉลากมาติดบนภาชนะในตำแหน่งที่ต้องการ
(3) เครื่องปิดฉลากสติกเกอร์
เครื่องปิดฉลากอีกประเภทหนึ่งคือ เครื่องปิดฉลากประเภทใช้ฉลากแบบสติกเกอร์หรือกาวในตัว แม้ว่าตัวฉลากจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่มีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะติดด้วยเครื่องมือหรือใช้เครื่องจักร ในกรณีใช้เครื่องจักร ฉลากจะพิมพ์มาเป็นม้วนเว้นช่วงระยะเท่าๆ กัน สืบเนื่องจากความหนาแน่นและความเหนียวของตัวฉลากกับตัวแผ่นกระดาษที่ปะอยู่ข้างหลัง เมื่อแผ่นกระดาษหมุนกลับ 180 องศา จะปล่อยให้ฉลากเผยอออกมา แล้วไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยลูกกลิ้งติดกาว เครื่องจักรติดฉลากประเภทนี้มีราคาไม่สูงนักและสามารถทำงานได้อย่างสะอาด นอกจากนี้ความเร็วในการติดฉลากยังสามารถทำได้สูงถึงหลายร้อยขวดต่อนาที
จากตัวอย่างของเครื่องปิดฉลากทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานี้จะพบว่าข้อพิจารณาในการเลือกเครื่องจักรนั้นจะแปรผันตามบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ประเภทของฉลากที่เหมาะแก่การใช้งาน ตำแหน่งและบริเวณของการติดฉลาก
3.9 เครื่องบรรจุกล่อง
(1) เครื่องบรรจุสินค้าใส่กล่อง
เครื่องจะเริ่มต้นการทำงานจากการนำเอากล่องออกจากแม็กกาซีนกล่อง (Carton Magazine) และขึ้นรูปกล่องด้วยเครื่องขึ้นรูปลก่อง แต่การขึ้นรูปกล่องจะลำบากกว่าถุง เนื่องจากเส้นรอยพับของสันข้างกล่อง ถ้าเก็บไว้นานหรือถูกกดทับไว้นาน ความเป็นสปริงของกล่องจะลดน้อยลงทำให้ขึ้นรูปกล่องได้ยาก เมื่อกล่องออกจากแม็กกาซีนกล่องและขึ้นรูปกล่องโดยเครื่องขึ้นรูปกล่องแล้วเครื่องจะทำการบรรจุสินค้าลงในกล่องและปิดกล่อง รูปแบบของเครื่องจักรจะเริ่มจากแบบง่ายๆที่ใช้มือบรรจุหรือใส่เป็นแบบที่ทำงานอย่างอัตโนมัติทั้งหมด
การปิดกล่องโดยใช้เครื่องปิดเทปกาว กล่อง ซึ่งทำงานได้เร็วและสะดวกกว่า รูปแบบของกล่องที่เลือกก็มีผลต่อการหาเครื่องจักรได้ยากหรือง่าย การจัดแนวเกรนและประเภทของกระดาษที่มีความเหนียวและสภาพการเป็นสปริงที่ดี จะสามารถทำให้การปิดกล่องทำได้สะดวก บ่อยครั้งที่พบว่า การที่ใช้ปิดด้วยมือแล้วหันมาใช้เครื่องทดแทนนั้น จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกล่องเพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องขึ้นรูปกล่องได้ดียิ่งขึ้น
(2) เครื่องปิดกล่อง (Case Sealer)
วิธีการปิดกล่องกระดาษลูกฟูกซึ่งนิยมใช้กันอยู่ 4 วิธีคือ
2.1 การทากาวด้วยมือและเครื่อง
กาวที่ใช้อาจจะใช้ตั้งแต่แป้งเปียก กาวลาเทกซ์ หรือกาวที่ใช้ความร้อน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า เวลาที่ใช้กาวในการผนึกติด การแข็งตัวภายหลงการทา และเวลาที่ใช้ในการแห้งตัว กาวฮอตเมลท์จะเป็นกาวที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ในทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว
2.2 การปิดเทปด้วยมือและเครื่อง
เทปที่ใช้มีหลายประเภท อาจแบ่งตามวัสดุ เช่น กระดาษ พลาสติกเสริมความ แข็งแรงด้วยเส้นใย เป็นต้น ส่วนสารเชื่อมติดที่อยู่บนเทป อาจเป็นกาวที่ต้องทาน้ำก่อน
2.3 การเย็บลวดด้วยเครื่องเย็บลวด
ลวดที่ใช้มี 2 อย่างคือ แถบลวดที่ขึ้นรูปแล้ว (ลักษณะเหมือนแถบลวดเย้บกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน) และขดลวดเป็นม้วน ส่วนเครื่องเย็บลวดมีทั้งแบบจับมือโยกหรือยิง และแบบเท้าเหยียบซึ่งเหมาะกับการเย็บก้นกล่อง
2.4 การรัดด้วยเครื่องสายรัดและคีมหนีบคลิปเหล็ก
สายรัดที่ใช้ส่วนมากจะทำมาจากพลาสติก PP (โพลิโพพิลีน) ซึ่งทนต่อแรงดึงสูง หากรัดกล่องด้วยมือและคลิปโลหะ ต้องใช้ที่รัดสายให้ตึง
3.10 เครื่องพิมพ์
เครื่องพิมพ์ทำหน้าที่ถ่ายหมึกเหลวลงไปสิ่งพิมพ์ (Substrate) ตามตำแหน่ง (image Area) และแบบ (Pattern) ที่ต้องการ ระบบการพิมพ์อาจมีอยู่หลายประเภท แต่ทว่าระบบการพิมพ์กว่า 80% ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์จะประกอบด้วย 4 ประเภทดังนี้
- แบบถ่ายผ่าน (Relief) ระบบพิมพ์ประเภทนี้อาจเรียกว่า ระบบการพิมพ์พื้นนูน ได้แก่ แบบเฟลกโซกราฟี (Flexo Graphy) แบบแลตเตอร์เพรส ซึ่งเป็นการพิมพ์โดยตรง (Direct Printing)
- แบบแบนราบ (Plano Graphic) ที่นิยมใช้ได้แก่ ระบบลิโธกราฟี (Lithography) หรือแบบออฟเซ็ตลิโธกราฟี (Offset Lithography)
- แบบโรตากราวัวร์ (Rotagravure) หรือเรียกแบบย่อว่า กราวัวร์
- แบบไร้สัมผัส (Non - contact) หรือ แบบไม่ใช้ระบบการกดพิมพ์ เป็นระบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
ระบบการพิมพ์แต่ละแบบดังกล่าวนี้จะแตกต่างกันในแง่ของคุณลักษณะหมึกการส่งผ่านหมึกและการทำให้ติดบนสิ่งตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามระบบการพิมพ์ทั้งหมดยกเว้นแบบไร้สัมผัสจะต้องใช้ตัวกลางในการส่งผ่านหมึกที่เรียกว่าโมแม่พิมพ์ซึ่งมีเพลทติดอยู่
นอกจากการแบ่งด้วยระบบการพิมพ์ดังกล่าวนี้ เครื่องพิมพ์ยังสามารถแบ่งตามวิธีการป้อนแบบเป็นแผ่น ป้อนเป็นม้วน โดยปกติเครื่องพิมพ์ที่ป้อนเป็นม้วนจะใช้กับกระดาษที่ยืดตัวได้ง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ในกรณีที่แปรรูปวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องบรรจุ Form - Fill - Seal มักจะใช้วัสดุที่เป็นม้วน เพราะตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปเอง ดังนั้นวัสดุจึงต้องพิมพ์ส่งเป็นม้วนและมีจุดหรือเส้นดำหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร ไว้ให้ตาแมว (Photoelectric cell) ของเครื่องคอยจับจุดรวมฉาก (Registration Mark) เพื่อให้ขึ้นรูปได้ขนาดแต่ละถุงตามต้องการ
การเลือกระบบการพิมพ์ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญมีดังนี้
- ปริมารของงานพิมพ์ จำนวนสีที่พิมพ์ต่อหน่วยพื้นที่ (Impression Work) และความละเอียดของงานพิมพ์
- งานที่ออกแบบ กราฟฟิกที่ออกแบบบนบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นลายเส้น (Line Work) งานพิมพ์หลายสี (Full Color) ความแวววับของงานพิมพ์เป็นต้น จะเลือกใช้ระบบที่แตกต่างกัน
- สิ่งพิมพ์ (Substrate) วัสดุที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์และใช้พิมพ์งานได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันจะได้คุณภาพการพิมพ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการดูดซับสีที่ไม่เหมือนกัน ความนิ่มและความแข็งแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ให้เหมาะสมกับวัสดุแต่ละประเภท
- รูปทรงสิ่งที่พิมพ์ ซึ่งอาจจะเป็นม้วนหรือแผ่นได้ตามที่กล่าวมาแล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ที่จะพิมพ์อาจจะเป็นรูปทรงกลมหรือไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตใดๆ เลย
- ความต้องการคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่น ป้องกันน้ำ ป้องกันสารเคมี หรือเป็นฉนวนความร้อน เป็นต้น
(1) เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่าน (Relief)
เครื่องพิมพ์แบบนี้ใช้ส่วนที่นูนออกมาเป็นที่ถ่ายผ่านหมึก วิธีการพิมพ์แบบนี้นับเป็นวิธีการแรกเริ่มที่ใช้ในการพิมพ์ เช่น ปั๊มตรายางซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสำนักงาน เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิมพ์แบบนี้ เครื่องพิมพ์แบบนี้ตัวแม่พิมพ์อาจจะทำจากโลหะยางโพลิเมอร์หรือสารผสม ขึ้นอยู่กับงานพิมพ์ ตัวแม่พิมพ์อาจจะอยู่ในรูปแผ่นแบบราบหรือติดรอบโมหรือไซลินเดอร์ (Cylinder) ที่หมุนในขณะพิมพ์ งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์ที่เป็นม้วนบนไซลินเดอร์หรือเรียกว่าโมแม่พิมพ์
เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่านที่นิยมได้แก่ เลตเตอร์เพรส และเฟลกโซกราฟี เครื่องพิมพเลตเตอร์เพรสที่ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากโลหะ เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสมักใช้หมึกที่ผสมน้ำมันและมักใช้กับการพิมพ์ฉลากและวัสดุเคลือบหลายชั้น แม่พิมพ์ที่ใช้กับเลตเตอร์เพรสจะใช้ได้นานกว่า ทนทานกว่า และพิมพ์ได้คมชัดกว่าแม่พิมพ์ที่ใช้กับเฟลกโซกราฟีที่ทำจากโพลิเมอร์
1. เครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี
แม่พิมพ์หรือตัวเพลทที่ใช้ในการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟีจะเป็นแบบยืดหยุ่นละกดอัดได้ ด้วยเหตุนี้การพิมพ์ด้วยเฟลกโซกราฟีต้องระมัดระวังในแรงกด ถ้าแรงกดมีมากเกินไปจะทำให้หมึกที่พิมพ์ปลิ้นออกมาอยู่ข้างๆ สิ่งพิมพ์ ที่เรียกตามวิชาการว่า Gain นอกจากนี้ยังมีผลต่อความเข้มของสีพิมพ์อีกด้วย ความละเอียดในการพิมพ์แบบเฟลกโซกราฟีจะค่อนข้างหยาบ คือ ได้เพียง 60 - 120 จุดต่อนิ้ว
ขณะที่พิมพ์หมึกพิมพ์เฟลกโซจะถูกกดให้ขอบของบริเวณที่พิมพ์เป็นเส้นขาดๆ ที่เรียกว่า "Halo Effect" หรือขอบมีรอย ซึ่งเป็นรอยปรากฎการณ์ปกติของการพิมพ์ระบบนี้ ด้วยเหตุนี้ ในการใช้เครื่องพิมพ์เฟลกโซจึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ละเอียดมากๆ หรือสีที่เต็มพื้นที่ (Solid color) การพิมพ์ระบบนี้จึงเหมาะกับสิ่งพิมพ์ที่มีผิวค่อนข้างหยาบ และใช้ในวงการบรรจุภัณฑ์ในการพิมพ์กล่องกระดาษลูกฟูก ถุงกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม และฉลาก
วิธีการพิมพ์ระบบเฟลกโซกราฟี หมึกพิมพ์จะถูกนำขึ้นจากเบ้าหมึกด้วยโมถ่ายทอดหมึกที่ควบคุมปริมาณหมึกที่จะพิมพ์ โดยการปาดของมีด (Doctor Blade) เพื่อพาหมึกไปสู่ไซลินเดอร์แม่พิมพ์ วัสดุของสิ่งที่พิมพ์จะเคลื่อนที่ผ่านแม่พิมพ์และไซลินเดอร์กดที่เรียกว่า โมกดแม่พิมพ์ (Impression Roll)
2. เครื่องพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสหรือออฟเซ็ตแบบแห้ง
บรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋องโลหะไม่มีจุดรวมฉาก (Registration Mark) บนเส้นรอบวงเหมือนกับวัสดุสิ่งพิมพ์แบบเรียบ ด้วยเหตุนี้เวลาพิมพ์กระป๋องจึงใช้วิธีถ่ายผ่านหมึกที่จะพิมพ์ลงบนโมยางที่เรียกว่า Blanket Cylinder แล้วถ่ายผ่านสีทั้งหมดจากโมยางนี้ลงสู่กระป๋อง โมยางนี้จะหมุนผ่านพื้นผิวบนกระป๋องและถ่ายผ่านสีจากหน่วยพิมพ์แต่ละหน่วยลงไปบนกระป๋องจากการหมุนครบรอบ 1 รอบ หมึกที่ใช้พิมพ์จะยังเปียกชื้นอยู่ ดังนั้น หลังการพิมพ์จึงจำต้องอบให้แห้งด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน เครื่องพิมพ์ระบบนี้รู้จักกันในนามของออฟเซ็ตแบบแห้ง สีพิมพ์ในแต่ละจุดไม่ทับกัน ดังนั้น เมื่อมองผ่านแว่นขยายจะเห็นช่องว่างระหว่างจะแต่ละจุดที่พิมพ์บนผิวของสิ่งที่พิมพ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยนิยมพิมพ์สีหลากสีมากนัก (Full - color) ตัวอย่างเช่น กระป๋องน้ำอัดลมต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นรอยเส้นทับบนกระป๋อง ตามแนวความสูงของกระป๋องซึ่งเป็นรอยเส้นที่เกิดจากสีที่เกยกัน
ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0155/เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์-ตอนที่-4