เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 2

2.3 ระบบการบรรจุ - เติม

(1) การบรรจุผลิตภัณฑ์เหลวโดยปริมาตรคงที่ - ระดับคงที่

การบรรจุของเหลวลงในบรรจุภัณฑ์สามารถบรรจุได้ 2 ประเภท
1. การบรรจุแบบระดับคงที่
       จะใช้กับผลิตภัณฑ์ของเหลวที่มีราคาต่ำจนถึงราคาปานกลาง ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลม เบียร์ และซอส ซึ่งปริมาตรที่ถูกต้องไม่มีสาระสำคัญนัก การบรรจุแบบระดับคงที่นี้สามารถสังเกตโดยใช้สายตาวัดระดับ ในขณะเดียวกัน ภาชนะบรรจุจะมีปริมาตรบรรจุไม่คงที่ เนื่องจากความหนาของผนังภาชนะบรรจุไม่สม่ำเสมอ ถ้าทำการบรรจุแบบปริมาตรคงที่ ก็จะทำให้ระดับความสูงในการบรรจุแตกต่างกันไป 

ในขณะที่ผู้บริโภคพอใจที่จะซื้อภาชนะที่บรรจุในระดับเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาใจลูกค้าโดยการบรรจุให้ระดับคงที่ แม้ว่าการบรรจุแบบระดับคงที่จะไม่คำนึงถึงปริมาตรจริง การบรรจุแบบระดับคงที่จะใช้วิธีแรงโน้มถ่วง สูญญากาศ ความดัน หรือการใช้ทั้งความดันและสูญญากาศ ส่วนการควบคุมให้ระดับคงที่โดยการนำของเหลวส่วนเกินออก เมื่อถึงระดับที่ต้องการโดยการใช้อิเล็กทรอนิกส์ หรือการควบคุมแบบนิวเมติกวาล์วช่วยในการบรรจุ

strapping2-3

2. การบรรจุแบบปริมาตรคงที่
       ปริมาตรที่ถูกต้องของอาหารจะถูกบรรจุในภาชนะบรรจุ โดยใช้กระบอกสูบหรือระบบการตวง ชั่ง อย่างอื่น ดังนั้นระบบการบรรจุแบบปริมาตรคงที่จะใช้กับ

  • ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง
  • ผลิตภัณฑ์ที่ขายตามน้ำหนัก
  • ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายต้องการน้ำหนักหรือปริมาตรที่ถูกต้อง (ยกตัวอย่างเช่น แม่สีของสีกระป๋อง)
  • ผลิตภัณฑ์ทางยาหรือสารเคมีที่ต้องการปริมาณการบริโภคและการใช้ที่ถูกต้อง
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีความเหนียวข้นและไม่สามารถไหลได้ด้วยตนเอง

(2) วิธีการบรรจุเติม
       ถ้าพิจารณาจากการเคลื่อนตัวของภาชนะและท่อบรรจุ (Nozzle) สามารถแบ่งเป็น 2 วิธี คือ วิธีให้ภาชนะเคลื่อนที่ลง และวิธีให้ท่อเติมเคลื่อนที่ขึ้น 

1. วิธีให้ภาชนะเคลื่อนที่
       เริ่มจากการสอดท่อบรรจุของเหลวในคอของภาชนะบรรจุจนถึงระดับหนึ่ง แล้วจึงปล่อยผลิตภัณฑ์ของเหลวให้ไหลลงไปที่ก้นภาชนะ หรือให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวนั้นกระจายไปทางด้านข้างของภาชนะบรรจุ เพื่อให้ของเหลวนั้นค่อยๆ ไหลลงตามผนังภาชนะ ซึ่งจะช่วยลดความแรงของการไหลของผลิตภัณฑ์และลดการรวมตัวกับอากาศจนเกิดเป็นฟองอากาศ

2. วิธีให้ท่อบรรจุเคลื่อนที่
       ทำโดยการใส่ท่อหรือท่อบรรจุลงไปถึงก้นของภาชนะบรรจุ แล้วปล่อยผลิตภัณฑ์ของเหลวให้ไหลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้จะช่วยลดการเกิดฟองอากาศในผลิตภัณฑ์และหลีกเลี่ยงการระเหยกลายเป็นไอของผลิตภัณฑ์ การออกแบบท่องบรรจุของเครื่องบรรจุสามารถออกแบบทรงแข็งหรือแบบอ่อนนุ่ม ถ้าหัวเติมเป็นแบบทรงแข็ง เวลาที่ทำการบรรจุตัวบรรจุภัณฑ์จะถูกยกขึ้น แล้วเลื่อนต่ำลงในขณะที่ทำการบรรจุไปเรื่อยๆ ส่วนท่อบรรจุแบบอ่อนนุ่มจะทำงานแตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อสอดท่อบรรจุเข้าไปข้างในบรรจุภัณฑ์แล้ว ตัวท่อนั้นจะค่อยๆ เลื่อนสูงขึ้นในขณะบรรจุ

strapping2-1

(3) ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของเหลว

       การเติมของเหลวมีหลายระบบ ได้แก่ ระบบสุญญากาศ ระบบแรงโน้มถ่วง ระบบความดัน ระบบความดันผสมสุญญากาศและระบบกระบอกสูบ ซึ่งมีการทำงานของระบบต่างๆ พอสังเขป ดังต่อไปนี้
3.1 การบรรจุระบบสุญญากาศ
       เมื่อใส่หัวเติมหรือปลายท่อบรรจุและท่อสุญญากาศเข้าแค่ระดับคอของบรรจุภัณฑ์แล้วผนึกให้สนิทด้วยวงแหวน แล้วทำการดูดอากาศออกจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลให้ความดันของอากาศในถังจ่ายผลิตภัณฑ์ของเหลวสูงกว่าความดันในบรรจุภัณฑ์ ของเหลวในถังจ่ายจะถูกดันด้วยแรงดันบรรยากาศเข้าสู่บรรจุภัณฑ์ เมื่อของเหลวเติมในบรรจุภัณฑ์ถึงระดับปลายท่อ หัวเติมจะดูดของเหลวที่อยู่เหนือระดับปลายท่อไหลออกไปยังถังน้ำล้น ทำให้ของเหลวไม่สูงขึ้นเกินระดับที่ต้องการบรรจุ ส่วนอากาศในบรรจุภัณฑ์ก็จะถูกดูดผ่านปั๊มสุญญากาศปล่อยทิ้งไป
การบรรจุระบบสุญญากาศนี้ ใช้สำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวที่สามารถไหลได้ด้วยตนเองลงในบรรจุภัณฑ์ประเภทแข็งตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็ว ยืดหยุ่น และการลงทุนต่ำ อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะจำกัดเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่คงรูปแข็งตัว และต้องใช้วิธีการบรรจุแบบระดับคงที่เท่านั้น นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง คือ บริเวณปากบรรจุภัณฑ์จะต้องไม่บิ่นหรือแตก เนื่องจากจะทำให้การดึงสุญญากาศออกจากบรรจุภัณฑ์ไม่สัมฤทธิผล
3.2 การบรรจุระบบแรงโน้มถ่วง
       หัวบรรจุจะเป็นแบบที่มีสปริงกดและมีห่วงยางด้วย มีขนาดพอเหมาะที่สามารถกดลงบนปากขวดได้พอดี เมื่อทำการกดหัวยางลงปากท่อด้วยสปริงก็จะเป็นจังหวะที่ไปเปิดวาล์ว ของเหลวก็จะไหลจากถังจ่ายที่ตั้งอยู่ตอนบนลงในถังบรรจุภัณฑ์ ระดับที่เติมจะถูกกำหนดด้วยระดับของท่อน้ำล้น การบรรจุเติมของเหลวด้วยแรงโน้มถ่วงนี้ จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการหยดก่อนและหลังบรรจุ แต่จะทำงานช้ากว่าระบบบรรจุแบบสุญญากาศ ด้วยเหตุนี้ ระบบนี้จึงไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ประเภทของเหลวที่มีความหนืดสูงซึ่งจะไหลช้ามาก 3.3 การบรรจุระบบความดัน
มีการทำงานคล้ายคลึงกับระบบบรรจุการบรรจุระบบแรงโน้มถ่วง โดยใช้ปั๊มเป็นตัวส่งแรงให้เคลื่อนผลิตภัณฑ์ วิธีการนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องยกถังเก็บขึ้นสูง และมีผลทำให้การไหลของผลิตภัณฑ์ไปได้เร็วขึ้น ระบบการบรรจุระบบใช้ความดันนี้เหมาะที่จะใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความเหนียวข้น
3.4 การบรรจุระบบผสมความดันและสุญญากาศ
       ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นฟองและมีความเหนียวข้นและส่วนใหญ่ใช้บรรจุในภาชนะบรรจุพลาสติก ความดันจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไหลไปได้เร็ว และสุญญากาศจะช่วยเร่งความเร็วในการบรรจุ ระบบนี้ยังช่วยป้องกันสภาวะการบรรจุเกินโดยการดูดกลับไปยังถังน้ำล้น
ทุกระบบของการบรรจุที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องมีห่วงยางบนปากขวดของภาชนะบรรจุและท่อดูดผลิตภัณฑ์ส่วนเกิน ท่อน้ำล้นนี้สามารถใช้ระบบนิวเมติกควบคุมระดับการเติมของเหลว ระบบนิวเมติกนี้จะทำให้อากาศที่มีความดันต่ำ ช่วยดันของเหลวไหลผ่านท่อภายในท่อบรรจุ เมื่อถึงระดับความสูงที่ต้องการของเหลวในภาชนะบรรจุจะก่อให้เกิดความดันย้อนกลับ และทำให้ระบบนิวเมติกหยุดระบบการเติมของเหลว
3.5 การบรรจุระบบกระบอกลูกสูบ
       ระบบนี้ประกอบด้วยกระบอกลูกสูบพร้อมแกนลูกสูบและวาล์ว ผลิตภัณฑ์จะไหลจากถังเก็บเมื่อลูกสูบเลื่อนมาข้างหลังและถูกบังคับให้ไหลลงในบรรจุภัณฑ์เมื่อลูกสูบเลื่อนมาข้างหน้า การบรรจุระบบกระบอกสูบเป็นระบบที่มีวิธีการทำอย่างง่าย สะดวกต่อการบำรุงรักษา นับเป็นระบบบรรจุที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่บรรจุผลิตภัณฑ์ที่สามารถไหลได้ง่ายและสะดวกด้วย คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์เอง
3.6 การบรรจุระบบการตวง วัด โดยใช้ปั๊มวัด (Metering Pumps)
       ระบบการบรรจุแบบตวงวัดจะใช้ปั๊มชนิดเคลื่อนที่ได้ไปติดตั้งตรงบริเวณที่ต้องการปั๊มจะทำงานโดยการตั้งจำนวนรอบไว้ล่วงหน้า และหยุดการจ่ายเมื่อครบรอบที่ตั้งไว้แล้ว ระบบการบรรจุแบบปั๊มมักจะใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารเหลวซึ่งไม่มีของเหลวแขวนลอยหรือตกตะกอน เช่น น้ำดื่ม ซอส เป็นต้น

(4) ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของแห้ง

ระบบการบรรจุผลิตภัณฑ์ของแห้งโดยทั่วไปมี 4 วิธีหลักๆ คือ
       1. การบรรจุโดยปริมาตรระบบถ้วยตวง รูปแบบที่ง่ายที่สุดของเครื่องจักรในการบรรจุแบบปริมาตรจะประกอบด้วยจานแผ่นเรียบที่มีถ้วยตวงวางตั้ง ซึ่งหมุนไปจนเมื่อบรรจุแต่ละถ้วยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อหมุนมาถึงอีกด้านหนึ่งจะปล่อยผลิตภัณฑ์ออกจากถ้วยตวง วิธีการนี้เป็นวิธีการลงทุนไม่สูงและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลต่ำ
       2. การบรรจุโดยปริมาตรระบบใช้เกลียว
ระบบนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการบรรจุแบบปริมาตรซึ่งเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ไหลได้ด้วยตนเองลำบาก ตัวอย่างเช่น น้ำตาลทรายแดง จึงจำเป็นต้องมีเกลียวในถังเก็บผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการจ่ายผลิตภัณฑ์ลงไปในบรรจุภัณฑ์ ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่จ่ายจะแปรตามความเร็วในการหมุนของเกลียว และช่องว่างระหว่างแต่ละเกลียวที่นำส่งผลิตภัณฑ์
       3. การบรรจุระบบน้ำหนักสุทธิ
ระบบนี้มีหน่วยชั่งน้ำหนักเพื่อชั่งน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ก่อนบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ โดยทั่วไปแต่ละสถานีของเครื่องบรรจุระบบชั่งน้ำหนักสุทธิจะมีความเร็วไม่เกิน 20 - 22 ครั้งต่อนาที
       4. การบรรจุระบบนับจำนวน
การบรรจุระบบนับจำนวนมีหลายวิธีการ เช่น

  • การนับแบบใช้ตาไฟฟ้าจะเหมาะกับผลิตภัณฑ์ประเภทขนมปัง ขนมขบเคี้ยว หรือสินค้าชิ้นใหญ่
  • การนับโดยใช้แผ่นดิสก์ที่เจาะรู (Rotating Perforated Disc) เป็นวิธีการที่ง่ายและไม่แพง จึงเหมาะสมที่จะใช้กับการนับผลิตภัณฑ์จำพวกลูกกวาด
  • การนับโดยใช้ราง (Chute) และท่อ (Channel) ซึ่งเป็นวิธีการนับที่นิยมมากที่สุด สำหรับลูกอมแบบแข็งซึ่งมีขนาดคงที่ ผลิตภัณฑ์จะเดินทางผ่านช่องรางซึ่งมีการตวง วัด จำนวนที่ถูกต้องจากระยะทางที่ลูกอมเรียงกันตามช่องรางก่อนบรรจุในบรรจุภัณฑ์

       การบรรจุทั้งระบบของเหลวและระบบแบบแห้งดังที่กล่าวมาแล้วนี้ สามารถนำมาใช้กับบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ กันได้ เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และซอง เป็นต้น ความสลับซับซ้อนของเครื่องบรรจุแปรผันตามความเร็วที่ต้องการใช้ในการบรรจุและรูปทรงของภาชนะบรรจุ เช่น รูปทรงกลม ทรงเหลี่ยมหรือเป็นแบบซอง

strapping2-2

3. เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์

3.1 เครื่องบรรจุเติม

เครื่องบรรจุประเภทนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามแนวการเคลื่อนที่ของบรรจุภัณฑ์ คือ เครื่องบรรจุเส้นตรงและแบบโรตารี่

(1) เครื่องบรรจุแบบเส้นตรง

       ตัวบรรจุภัณฑ์จะเรียงเข้าสู่หัวบรรจุเป็นแนวเส้นตรง เครื่องบรรจุประเภทนี้สะดวกในการเปลี่ยนขนาดและเพิ่มหัวบรรจุเมื่อมีความต้องการเพิ่มความเร็วในการบรรจุ

(2) เครื่องบรรจุแบบโรตารี่

       เป็นเครื่องที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ที่มีการบรรจุโดยใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเดียวกันตลอด โดยไม่ค่อยเปลี่ยนขนาดเนื่องจากต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนจานป้อนเข้าและออกพร้อมทั้งเปลี่ยนหัวบรรจุ ในกรณีของเครื่องบรรจุซอง มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์อื่น เนื่องจากมีการออกแบบเครื่องจักรสำหรับซองโดยเฉพาะ ตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปซองเองจากฟิล์มเป็นม้วน แล้วบรรจุโดยใช้ระบบ การบรรจุตามที่กล่าวมาแล้วไม่ว่าจะเป็นแบบแห้งหรือแบบเหลว จากนั้นตัวเครื่องจะทำการปิดผนึกเสร็จในเครื่อง ด้วยเหตุนี้เครื่องประเภทนี้จึงมีชื่อย่อว่า FFS ซึ่งย่อมาจาก Form - Fill - Seal (ขึ้นรูปภาชนะบรรจุสินค้า - ปิดผนึก - ห่อ)

  • เครื่องจักร FFS แบ่งตามทิศทางการเคลื่อนที่ของซอง โดยแบ่งเป็นแบบแนวดิ่งและแนวราบ เครื่องจักรในแนวดิ่งจะดิ่งมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่า
  • เครื่องจักร FFS ดังกล่าวทั้ง 2 ประเภทโดยทั่วไปจะมีความเร็วไม่เกิน 200 ซองต่อนาที ต่อหัวบรรจุ 1 หัว นอกจากในกรณีที่ต้องการความเร็วสูงๆ ต้องใช้ระบบโรตารี่เข้าช่วย ซึ่งอาจมีความเร็วสูงถึง 1,000 ซองต่อนาที โดยแยกส่วนขึ้นรูปซองออกจากส่วนบรรจุ

3.2 เครื่องบรรจุสุญญากาศ (Vacuum Packing Machine)

       ตามที่อธิบายในหัวข้อของการถนอมอาหารว่าปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรจุภัณฑ์เป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นจึงมีการปรับสภาวะภายในภาชนะบรรจุอาหารโดยการดูดเอาอากาศออก เพื่อลดปริมาณออกซิเจนในภาชนะบรรจุ เป็นการยืดอายุของผลิตภัณฑ์อาหาร จากการดูดเอาอากาศออกย่อมส่งผลให้ตัวบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะแบบซองหดตัวไปตามรูปแบบอาหาร ทำให้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ชวนมอง ดังนั้น จึงมีการฉีดก๊าซเฉื่อยเข้าไปแทนที่กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging หรือ MAP) เครื่องจักรที่ใช้ในระบบนี้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบกึ่งอัตโนมัติและแบบอัตโนมัติ

(1) เครื่องสุญญากาศแบบกึ่งอัตโนมัติ

       ส่วนใหญ่มักใช้ถุงหรือถาดที่ทำมาสำเร็จรูปแล้ว โดยการบรรจุสินค้าลงไปก่อนนำเข้าสู่เครื่อง แล้วนำซองหรือถาดวางในตัวเครื่องโดยมีบริเวณส่วนเปิดของบรรจุภัณฑ์วางอยู่ในรอยแนวปิดผนึกของเครื่อง ส่วนตัวเครื่องมีลักษณะคล้ายกระเป๋าเอกสารมีฝาเปิดปิดในแนวดิ่ง เมื่อจัดเรียงวางบรรจุภัณฑ์ภายในเครื่องเสร็จแล้วปิดฝา ตัวเครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติ โดยการดูดเอาสุญญากาศภายในตัวเครื่อง เมื่อเครื่องดูดสุญญากาศได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้เครื่องจะปิดผนึกใน แล้วปล่อยอากาศเข้าไปในเครื่องพร้อมกับเปิดฝาออก ถ้าต้องการทำเป็นระบบบรรจุภัณฑ์ปรับสภาวะ หลังจากการดูดสุญญากาศออกแล้ว ตัวเครื่องจะทำงานต่ออีกขั้นหนึ่ง คือ การฉีดก๊าซในอัตราส่วนที่ต้องการเข้าไปในเครื่องหรือเข้าไปในบรรจุภัณฑ์แล้วแต่การออกแบบของเครื่องเมื่อฉีดได้ตามปริมาณที่ต้องการแล้ว ค่อยปิดผนึกและหยุดการทำงานของเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงานของการฉีดก๊าซ
ปัจจัยสำคัญพึงสังเกตของเครื่องสุญญากาศแบบกึ่งอัตโนมัตินี้คือ มิติของความยาว ความกว้างและความสูงของเครื่อง ความยาวของรอยปิดผนึก ความสามารถของปั๊มในการดูดสุญญากาศระบบการควบคุมและระบบการผสมก๊าซที่ต้องการ

(2) เครื่องสุญญากาศแบบอัตโนมัติ

       เครื่องจักรแบบอัตโนมัตินี้มักป้อนฟิล์มพลาสติกในลักษณะเป็นม้วน จึงมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Rollstock Machine .ในกรณีที่ต้องการทำเป็นถุงจะประกอบด้วยฟิล์ม 2 ม้วน ม้วนหนึ่งอยู่ด้านล่างและม้วนหนึ่งอยู่ด้านบน ม้วนล่างจะรองรับสินค้าที่จะบรรจุ ในกรณีที่ต้องการทำเป็นถาด ม้วนล่างจะเป็นม้วนที่ถูกความร้อนทำให้นิ่มและขึ้นเป็นรูปถาด เมื่อบรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งฟิล์มม้วนล่างและม้วนบนจะเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณสถานีที่ทำการดูดสุญญากาศและฉีดก๊าซพร้อมทั้งปิดผนึก แล้วจึงทำการตัดออกมาเป็นถาดหรือซองตามต้องการ
ปัจจัยในการพิจารณาเลือกใช้เครื่องจักร คือความกว้างของเครื่องที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ได้ตามที่ต้องการ วิธีการขึ้นรูปเป็นถาดและถุง ระบบการควบคุมการดึงสุญญากาศและการผสมก๊าซที่จะฉีด จังหวะการเคลื่อนบนสายพานเพื่อนำส่งซองหรือถาด ปริมาณการสูญเสียจากการตัดขอบทั้ง 2 ข้าง หัวใจสำคัญของเครื่องแบบอัตโนมัติ คือ ตัวโมลด์ที่ใช้ขึ้นรูปถาด นอกจากจะขึ้นรูปได้ตามความสูงที่ต้องการแล้ว ความหนาบางของบริเวณมุมถาดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ถาดคงรูปภายใต้สภาวะความเป็นสุญญากาศหรือการปรับสภาวะเนื่องจากความดันอากาศภายในถาดต่ำ

3.3 เครื่องห่อ (Wrapping Machine)

(1) การห่อแบบบิด (Twist Wrap)

       เมื่อต้องการห่อผลิตภัณฑ์จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกอม ย่อมมีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้เครื่องห่ออัตโนมัติเข้ามาแทนที่คน ส่งผลให้ความเร็วในการห่อเพิ่มมากขึ้น และห่อของเล็กๆได้อย่างง่ายดาย เมื่อนำแผ่นวัสดุที่ตัดเป็นแผ่นมาพันรอบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการห่อ แล้วบิดปลายทั้งสองข้างเป็นเกลียวที่เรียกว่า Twist Wrap ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับการห่อลูกกวาดนั้น สามารถห่อได้เร็วถึง 600 ชิ้นต่อนาที

(2) การห่อของที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

       การห่อของที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้วิธีการห่อของแบบปกติด้วยวัสดุบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ที่สามารถเลือกใช้ตามขนาดและจัดให้เหมาะกับรูปร่างของสิ่งของที่ต้องการห่อตามวิธีการดังนี้ ตัดวัสดุที่จะห่อให้เป็นแผ่นยาวที่ต้องการ วางของที่ต้องการลงบนห่อนั้น พับตามรอยของที่ต้องการจนปลายมาทับซ้อนกันประมาณ ¼ นิ้วหรือ 1 นิ้ว แบบปลายเปิดทั้งสองข้าง จากนั้นพับบิดปลายทั้งสองข้างให้เข้าที่
การห่อของที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างชัดเจน เช่น ซองบุหรี่ มีขั้นตอนการห่อดังนี้ เริ่มด้วยการพับขอบปลายข้างหนึ่งก่อน เหลือปลายอีกข้างวิ่งผ่านไปตามรางจะถูกพับปิด ปลายที่เหลืออีกสองข้าง จะถูกพับด้านล่างและด้านบนต่อไป

(3) การห่อของที่มีขนาดไม่คงที่ - ลักษณะนุ่ม

       ถ้าต้องการห่อของที่มีขนาดไม่คงที่หรือมีลักษณะนุ่ม การยึดติดปลายทั้งสองข้างจะต้องมีความแน่นอนแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถพับเรียงไปตามลำดับได้ เช่น การห่อก้อนขนมปังปอนด์ การห่อของดังที่กล่าวมาโดยใช้เครื่องจักรช่วยห่อ จำเป็นจะต้องดึงวัสดุห่อออกจากม้วน แล้วตัดเพื่อนำมาห่อของอีกครั้ง ถ้าวัสดุห่อนั้นบางมากและไม่คงตัวก็จะยุ่งยากในการทำงาน มีดที่จะใช้ตัดก็ต้องตัดปรับให้เหมาะสม การใช้ตัวจับดึงวัสดุออกมาจึงเหมาะสมกว่าดันสินค้าผ่านวัสดุที่ออกจากม้วน จากนั้นผนึกปลายด้วยฉลาก กาว หรือปิดผนึกด้วยความร้อน การติดฉลากด้วยกาวทีละชิ้นนั้นไม่เหมาะกับความเร็วสูง โดยปกติมักใช้ฉลากที่ต้องป้อนมาเป็นม้วน โดยมีข้างหนึ่งเคลือบด้วยกาวแบบเดียวกับสติกเกอร์แล้วแตะสัมผัสสินค้า ฉลากสติกเกอร์นั้นก็จะถูกส่งผ่านจากม้วนลงไปติดตำแหน่งที่ต้องการ
ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0150

Online Catalog

Online Catalog TU.Pack

Special Promotion

โปรโมชั่น เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์

Article | Knowledge

บทความ สาระน่ารู้

Contact Us

ติดต่อสอบถาม

Contact Form

สอบถามเครื่องแพ็ค เครื่องบรรจุ

APPLY JOB

ร่วมงานกับทียูแพ็ค