เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4

3.8 เครื่องปิดฉลาก (Labeling Machine)

    การปิดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดจะแปรตามรูปทรงของบรรจุภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนี้ยังแปรตามกาวที่ใช้และวัสดุของตัวแผ่นฉลาก เครื่องปิดฉลากสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวแล้วกลิ้งติด

    ในกรณีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋อง จะใช้ความเป็นทรงกลมให้เป็นประโยชน์ โดยให้กระป๋องกลิ้งไปตามรางแล้วทากาวลงบนตัวกระป๋อง เมื่อกลิ้งต่อไปกาวบนกระป๋องจะติดเอาฉลากขึ้นมาด้วย เมื่อกลิ้งไปก่อนจะครบรอบของฉลากที่ติดมานั้นจะมีการทากาวบนปลายฉลากอีกข้างหนึ่ง เพื่อให้บริเวณปลายอีกข้างของฉลากสามารถติดแน่นสนิท

(2) เครื่องปิดฉลากแบบทากาวที่ฉลากแล้วส่งผ่านไปติด

    เครื่องปิดฉลากบนส่วนหน้าหรือส่วนหลังของบรรจุภัณฑ์ จำพวกขวดแก้วหรือพลาสติก มีหลักการทำงาน คือ ฉลากจะถูกทากาวด้วยลูกกลิ้งก่อน แล้วจึงนำฉลากมาติดบนภาชนะในตำแหน่งที่ต้องการ

(3) เครื่องปิดฉลากสติกเกอร์

    เครื่องปิดฉลากอีกประเภทหนึ่งคือ เครื่องปิดฉลากประเภทใช้ฉลากแบบสติกเกอร์หรือกาวในตัว แม้ว่าตัวฉลากจะมีราคาค่อนข้างแพง แต่มีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะติดด้วยเครื่องมือหรือใช้เครื่องจักร ในกรณีใช้เครื่องจักร ฉลากจะพิมพ์มาเป็นม้วนเว้นช่วงระยะเท่าๆ กัน สืบเนื่องจากความหนาแน่นและความเหนียวของตัวฉลากกับตัวแผ่นกระดาษที่ปะอยู่ข้างหลัง เมื่อแผ่นกระดาษหมุนกลับ 180 องศา จะปล่อยให้ฉลากเผยอออกมา แล้วไปติดบนบรรจุภัณฑ์ด้วยลูกกลิ้งติดกาว เครื่องจักรติดฉลากประเภทนี้มีราคาไม่สูงนักและสามารถทำงานได้อย่างสะอาด นอกจากนี้ความเร็วในการติดฉลากยังสามารถทำได้สูงถึงหลายร้อยขวดต่อนาที
    จากตัวอย่างของเครื่องปิดฉลากทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานี้จะพบว่าข้อพิจารณาในการเลือกเครื่องจักรนั้นจะแปรผันตามบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ประเภทของฉลากที่เหมาะแก่การใช้งาน ตำแหน่งและบริเวณของการติดฉลาก

 เครื่องปิดฉลาก (Labeling Machine)

3.9 เครื่องบรรจุกล่อง

(1) เครื่องบรรจุสินค้าใส่กล่อง

เครื่องจะเริ่มต้นการทำงานจากการนำเอากล่องออกจากแม็กกาซีนกล่อง (Carton Magazine) และขึ้นรูปกล่องด้วยเครื่องขึ้นรูปลก่อง แต่การขึ้นรูปกล่องจะลำบากกว่าถุง เนื่องจากเส้นรอยพับของสันข้างกล่อง ถ้าเก็บไว้นานหรือถูกกดทับไว้นาน ความเป็นสปริงของกล่องจะลดน้อยลงทำให้ขึ้นรูปกล่องได้ยาก เมื่อกล่องออกจากแม็กกาซีนกล่องและขึ้นรูปกล่องโดยเครื่องขึ้นรูปกล่องแล้วเครื่องจะทำการบรรจุสินค้าลงในกล่องและปิดกล่อง รูปแบบของเครื่องจักรจะเริ่มจากแบบง่ายๆที่ใช้มือบรรจุหรือใส่เป็นแบบที่ทำงานอย่างอัตโนมัติทั้งหมด
    การปิดกล่องโดยใช้เครื่องปิดเทปกาว กล่อง ซึ่งทำงานได้เร็วและสะดวกกว่า รูปแบบของกล่องที่เลือกก็มีผลต่อการหาเครื่องจักรได้ยากหรือง่าย การจัดแนวเกรนและประเภทของกระดาษที่มีความเหนียวและสภาพการเป็นสปริงที่ดี จะสามารถทำให้การปิดกล่องทำได้สะดวก บ่อยครั้งที่พบว่า การที่ใช้ปิดด้วยมือแล้วหันมาใช้เครื่องทดแทนนั้น จำต้องมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกล่องเพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องขึ้นรูปกล่องได้ดียิ่งขึ้น

(2) เครื่องปิดกล่อง (Case Sealer)

วิธีการปิดกล่องกระดาษลูกฟูกซึ่งนิยมใช้กันอยู่ 4 วิธีคือ
 2.1 การทากาวด้วยมือและเครื่อง
   กาวที่ใช้อาจจะใช้ตั้งแต่แป้งเปียก กาวลาเทกซ์ หรือกาวที่ใช้ความร้อน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า เวลาที่ใช้กาวในการผนึกติด การแข็งตัวภายหลงการทา และเวลาที่ใช้ในการแห้งตัว กาวฮอตเมลท์จะเป็นกาวที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ในทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว
2.2 การปิดเทปด้วยมือและเครื่อง
    เทปที่ใช้มีหลายประเภท อาจแบ่งตามวัสดุ เช่น กระดาษ พลาสติกเสริมความ แข็งแรงด้วยเส้นใย เป็นต้น ส่วนสารเชื่อมติดที่อยู่บนเทป อาจเป็นกาวที่ต้องทาน้ำก่อน
2.3 การเย็บลวดด้วยเครื่องเย็บลวด
    ลวดที่ใช้มี 2 อย่างคือ แถบลวดที่ขึ้นรูปแล้ว (ลักษณะเหมือนแถบลวดเย้บกระดาษที่ใช้ในสำนักงาน) และขดลวดเป็นม้วน ส่วนเครื่องเย็บลวดมีทั้งแบบจับมือโยกหรือยิง และแบบเท้าเหยียบซึ่งเหมาะกับการเย็บก้นกล่อง
2.4 การรัดด้วยเครื่องสายรัดและคีมหนีบคลิปเหล็ก
    สายรัดที่ใช้ส่วนมากจะทำมาจากพลาสติก PP (โพลิโพพิลีน) ซึ่งทนต่อแรงดึงสูง หากรัดกล่องด้วยมือและคลิปโลหะ ต้องใช้ที่รัดสายให้ตึง

2

3.10 เครื่องพิมพ์

    เครื่องพิมพ์ทำหน้าที่ถ่ายหมึกเหลวลงไปสิ่งพิมพ์ (Substrate) ตามตำแหน่ง (image Area) และแบบ (Pattern) ที่ต้องการ ระบบการพิมพ์อาจมีอยู่หลายประเภท แต่ทว่าระบบการพิมพ์กว่า 80% ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์จะประกอบด้วย 4 ประเภทดังนี้

  1. แบบถ่ายผ่าน (Relief) ระบบพิมพ์ประเภทนี้อาจเรียกว่า ระบบการพิมพ์พื้นนูน ได้แก่ แบบเฟลกโซกราฟี (Flexo Graphy) แบบแลตเตอร์เพรส ซึ่งเป็นการพิมพ์โดยตรง (Direct Printing)
  2. แบบแบนราบ (Plano Graphic) ที่นิยมใช้ได้แก่ ระบบลิโธกราฟี (Lithography) หรือแบบออฟเซ็ตลิโธกราฟี (Offset Lithography)
  3. แบบโรตากราวัวร์ (Rotagravure) หรือเรียกแบบย่อว่า กราวัวร์
  4. แบบไร้สัมผัส (Non - contact) หรือ แบบไม่ใช้ระบบการกดพิมพ์ เป็นระบบใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

    ระบบการพิมพ์แต่ละแบบดังกล่าวนี้จะแตกต่างกันในแง่ของคุณลักษณะหมึกการส่งผ่านหมึกและการทำให้ติดบนสิ่งตีพิมพ์ อย่างไรก็ตามระบบการพิมพ์ทั้งหมดยกเว้นแบบไร้สัมผัสจะต้องใช้ตัวกลางในการส่งผ่านหมึกที่เรียกว่าโมแม่พิมพ์ซึ่งมีเพลทติดอยู่

นอกจากการแบ่งด้วยระบบการพิมพ์ดังกล่าวนี้ เครื่องพิมพ์ยังสามารถแบ่งตามวิธีการป้อนแบบเป็นแผ่น ป้อนเป็นม้วน โดยปกติเครื่องพิมพ์ที่ป้อนเป็นม้วนจะใช้กับกระดาษที่ยืดตัวได้ง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ในกรณีที่แปรรูปวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องบรรจุ Form - Fill - Seal มักจะใช้วัสดุที่เป็นม้วน เพราะตัวเครื่องจะทำการขึ้นรูปเอง ดังนั้นวัสดุจึงต้องพิมพ์ส่งเป็นม้วนและมีจุดหรือเส้นดำหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร ไว้ให้ตาแมว (Photoelectric cell) ของเครื่องคอยจับจุดรวมฉาก (Registration Mark) เพื่อให้ขึ้นรูปได้ขนาดแต่ละถุงตามต้องการ

การเลือกระบบการพิมพ์ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ แต่ปัจจัยที่สำคัญมีดังนี้

  1. ปริมารของงานพิมพ์ จำนวนสีที่พิมพ์ต่อหน่วยพื้นที่ (Impression Work) และความละเอียดของงานพิมพ์
  2. งานที่ออกแบบ กราฟฟิกที่ออกแบบบนบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นลายเส้น (Line Work) งานพิมพ์หลายสี (Full Color) ความแวววับของงานพิมพ์เป็นต้น จะเลือกใช้ระบบที่แตกต่างกัน
  3. สิ่งพิมพ์ (Substrate) วัสดุที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์และใช้พิมพ์งานได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันจะได้คุณภาพการพิมพ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการดูดซับสีที่ไม่เหมือนกัน ความนิ่มและความแข็งแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ให้เหมาะสมกับวัสดุแต่ละประเภท
  4. รูปทรงสิ่งที่พิมพ์ ซึ่งอาจจะเป็นม้วนหรือแผ่นได้ตามที่กล่าวมาแล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ที่จะพิมพ์อาจจะเป็นรูปทรงกลมหรือไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตใดๆ เลย
  5. ความต้องการคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เช่น ป้องกันน้ำ ป้องกันสารเคมี หรือเป็นฉนวนความร้อน เป็นต้น

(1) เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่าน (Relief)

เครื่องพิมพ์แบบนี้ใช้ส่วนที่นูนออกมาเป็นที่ถ่ายผ่านหมึก วิธีการพิมพ์แบบนี้นับเป็นวิธีการแรกเริ่มที่ใช้ในการพิมพ์ เช่น ปั๊มตรายางซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในสำนักงาน เป็นตัวอย่างที่ดีของการพิมพ์แบบนี้ เครื่องพิมพ์แบบนี้ตัวแม่พิมพ์อาจจะทำจากโลหะยางโพลิเมอร์หรือสารผสม ขึ้นอยู่กับงานพิมพ์ ตัวแม่พิมพ์อาจจะอยู่ในรูปแผ่นแบบราบหรือติดรอบโมหรือไซลินเดอร์ (Cylinder) ที่หมุนในขณะพิมพ์ งานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์ที่เป็นม้วนบนไซลินเดอร์หรือเรียกว่าโมแม่พิมพ์
เครื่องพิมพ์แบบถ่ายผ่านที่นิยมได้แก่ เลตเตอร์เพรส และเฟลกโซกราฟี เครื่องพิมพเลตเตอร์เพรสที่ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากโลหะ เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรสมักใช้หมึกที่ผสมน้ำมันและมักใช้กับการพิมพ์ฉลากและวัสดุเคลือบหลายชั้น แม่พิมพ์ที่ใช้กับเลตเตอร์เพรสจะใช้ได้นานกว่า ทนทานกว่า และพิมพ์ได้คมชัดกว่าแม่พิมพ์ที่ใช้กับเฟลกโซกราฟีที่ทำจากโพลิเมอร์
  1. เครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟี
      แม่พิมพ์หรือตัวเพลทที่ใช้ในการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์เฟลกโซกราฟีจะเป็นแบบยืดหยุ่นละกดอัดได้ ด้วยเหตุนี้การพิมพ์ด้วยเฟลกโซกราฟีต้องระมัดระวังในแรงกด ถ้าแรงกดมีมากเกินไปจะทำให้หมึกที่พิมพ์ปลิ้นออกมาอยู่ข้างๆ สิ่งพิมพ์ ที่เรียกตามวิชาการว่า Gain นอกจากนี้ยังมีผลต่อความเข้มของสีพิมพ์อีกด้วย ความละเอียดในการพิมพ์แบบเฟลกโซกราฟีจะค่อนข้างหยาบ คือ ได้เพียง 60 - 120 จุดต่อนิ้ว
ขณะที่พิมพ์หมึกพิมพ์เฟลกโซจะถูกกดให้ขอบของบริเวณที่พิมพ์เป็นเส้นขาดๆ ที่เรียกว่า "Halo Effect" หรือขอบมีรอย ซึ่งเป็นรอยปรากฎการณ์ปกติของการพิมพ์ระบบนี้ ด้วยเหตุนี้ ในการใช้เครื่องพิมพ์เฟลกโซจึงควรหลีกเลี่ยงงานที่ละเอียดมากๆ หรือสีที่เต็มพื้นที่ (Solid color) การพิมพ์ระบบนี้จึงเหมาะกับสิ่งพิมพ์ที่มีผิวค่อนข้างหยาบ และใช้ในวงการบรรจุภัณฑ์ในการพิมพ์กล่องกระดาษลูกฟูก ถุงกระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม และฉลาก
วิธีการพิมพ์ระบบเฟลกโซกราฟี หมึกพิมพ์จะถูกนำขึ้นจากเบ้าหมึกด้วยโมถ่ายทอดหมึกที่ควบคุมปริมาณหมึกที่จะพิมพ์ โดยการปาดของมีด (Doctor Blade) เพื่อพาหมึกไปสู่ไซลินเดอร์แม่พิมพ์ วัสดุของสิ่งที่พิมพ์จะเคลื่อนที่ผ่านแม่พิมพ์และไซลินเดอร์กดที่เรียกว่า โมกดแม่พิมพ์ (Impression Roll)
  2. เครื่องพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสหรือออฟเซ็ตแบบแห้ง
      บรรจุภัณฑ์ที่เป็นทรงกลม เช่น กระป๋องโลหะไม่มีจุดรวมฉาก (Registration Mark) บนเส้นรอบวงเหมือนกับวัสดุสิ่งพิมพ์แบบเรียบ ด้วยเหตุนี้เวลาพิมพ์กระป๋องจึงใช้วิธีถ่ายผ่านหมึกที่จะพิมพ์ลงบนโมยางที่เรียกว่า Blanket Cylinder แล้วถ่ายผ่านสีทั้งหมดจากโมยางนี้ลงสู่กระป๋อง โมยางนี้จะหมุนผ่านพื้นผิวบนกระป๋องและถ่ายผ่านสีจากหน่วยพิมพ์แต่ละหน่วยลงไปบนกระป๋องจากการหมุนครบรอบ 1 รอบ หมึกที่ใช้พิมพ์จะยังเปียกชื้นอยู่ ดังนั้น หลังการพิมพ์จึงจำต้องอบให้แห้งด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน เครื่องพิมพ์ระบบนี้รู้จักกันในนามของออฟเซ็ตแบบแห้ง สีพิมพ์ในแต่ละจุดไม่ทับกัน ดังนั้น เมื่อมองผ่านแว่นขยายจะเห็นช่องว่างระหว่างจะแต่ละจุดที่พิมพ์บนผิวของสิ่งที่พิมพ์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยนิยมพิมพ์สีหลากสีมากนัก (Full - color) ตัวอย่างเช่น กระป๋องน้ำอัดลมต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตเห็นรอยเส้นทับบนกระป๋อง ตามแนวความสูงของกระป๋องซึ่งเป็นรอยเส้นที่เกิดจากสีที่เกยกัน


ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0155/เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์-ตอนที่-4

Online Catalog

Online Catalog TU.Pack

Special Promotion

โปรโมชั่น เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์

Article | Knowledge

บทความ สาระน่ารู้

Contact Us

ติดต่อสอบถาม

Contact Form

สอบถามเครื่องแพ็ค เครื่องบรรจุ

APPLY JOB

ร่วมงานกับทียูแพ็ค